ธนบัตร 20 บาท แบบ 4 มีทั้งหมด 2 รุ่นรวมที่ผลิตโดยบริษัทโทมัสเดอลารูและกรมแผนที่ทหารบก

ธนบัตร 20 บาทพิมพ์โทมัส ด้านหน้า
ธนบัตร 20 บาทพิมพ์โทมัส ด้านหลัง

ธนบัตร 20 บาท พิมพ์โทมัส ด้านหน้าเป็นคำว่า รัฐบาลสยาม


ธนบัตร 20 บาท พิมพ์กรมแผนที่ บาท ด้านหน้า
ธนบัตร 20 บาท พิมพ์กรมแผนที่ บาท ด้านหลัง

ธนบัตร 20 บาท พิมพ์กรมแผนที่ รัถบาล สะกดด้วย ถ และมีคำว่า กรมแผนที่ ขนาดจิ๋วด้านล่างทั้งหน้าและหลัง

ราคาโดยประเมิน

  • พิมพ์โทมัส เลขธรรมดา ลายเซ็น ประดิษฐ สภาพ VF ราคาประมาณ 6,600 - 7,000 บาท
  • พิมพ์กรมแผนที่ เลขธรรมดา ลายเซ็น เภา สภาพ UNC ราคาประมาณ 32,000 -33,500 บาท
  • พิมพ์กรมแผนที่ เลขธรรมดา ลายเซ็น เภา สภาพ EF ราคาประมาณ 5,900 - 6,200 บาท
  • พิมพ์กรมแผนที่ เลขธรรมดา ลายเซ็น เล้ง สภาพ UNC ราคาประมาณ 14,200 - 14,900 บาท
  • พิมพ์กรมแผนที่ เลขธรรมดา ลายเซ็น เล้ง สภาพ EF ราคาประมาณ 5,400 - 5,700 บาท

    ราคานี้อัพเดทเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2560

    ข้อมูลธนบัตร

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชในปี 2477 ในช่วงเริ่มรัชกาลนั้นรัฐบาลยังคงนำธนบัตรแบบ 3 ที่ยังมีอยู่ทยอยออกใช้และได้เตรียมการสั่งบริษัทโทมัสเดอลารูพิมพ์ธนบัตรแบบ 4 โดยสั่งพิมพ์ 5 ราคา คือ 1, 5, 10, 20 และ 1000 บาท โดยธนบัตร 1 บาทพิมพ์โทมัส รุ่น 1 เป็นธนบัตรรุ่นแรกที่นำออกใช้ในปี 2481

    ธนบัตรแบบโทมัสมีการโรยใยไหมสีแดงและสีน้ำเงินตรงกลางฉบับตั้งแต่บนจรดด้านล่าง มีลายน้ำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบนธนบัตรครั้งสำคัญคือเมื่อปี 2482 ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าควรจะเรียกชื่อประเทศเป็น ประเทศไทย ให้สอดคล้องกับเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนจึงเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2482 จึงมีการเปลี่ยนเป็นคำว่ารัฐบาลไทยในธนบัตรพิมพ์โทมัสรุ่น 2

    ปี 2484 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในยุโรป ผลของสงครามในช่วงต้นยังไม่กระทบถึงไทยจนกระทั่งประเทศญี่ปุ่นได้บุกถล่มสหรัฐที่ฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ในแปซิฟิกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2484 และในวันถัดมากองทัพญี่ปุ่นบุกขึ้นชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ของไทย จนไทยต้องยอมให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่านในการเข้ายึดประเทศข้างเคียงที่เป็นอาณานิคมของคู่สงคราม และในปีต่อมาประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในไทยทำให้ไทยต้องประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร

    หน่วยงานธนาคารแห่งประเทศไทยถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเร่งด่วนตามข้อเสนอของญี่ปุ่นเพื่อรักษาเสียรภาพทางการเงินของประเทศ มีการปรับค่าแลกเปลี่ยนเงินเยนเป็น 100 เยนต่อ 100 บาท การจ่ายเงินสนับสนุนการสงครามจากรัฐบาลญี่ปุ่นในไทยใช้เป็นเงินบาท และการจ่ายคืนจะจ่ายด้วยทองคำหรือเงินเยน ปริมาณเงินบาทในไทยจึงสูงขึ้นในขณะที่การสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัทโทมัสเดอลารูไม่สามารถทำได้อีกต่อไปเนื่องจากบริษัทเป็นของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นคู่สงคราม

    ไทยได้ร้องขอให้ญี่ปุ่นช่วยพิมพ์ธนบัตรให้ซึ่งในช่วงต้นก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ได้จัดพิมพ์ธนบัตรด้วยตัวเองแม้จะไม่เคยมีประสบการณ์เพื่อรองรับสถานการณ์สงครามที่อาจรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารรถพิ่งพาการผลิตธนบัตรจากระเทศญี่ปุ่นได้

    รัฐบาลมอบหมายให้กรมแผนที่ทหารบกจัดพิมพ์ธนบัตรโดยใช้กระดาษที่ผลิตจากโรงงานกระดาษไทยที่จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงแรกญี่ปุ่นได้สนับสนุนเยื่อกระดาษจากเยื่ออ้อยจากญี่ปุ่นซึ่งมีความเหนียวและขาว เมื่อใช้หมดแล้วจึงจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่หาได้ในประเทศเช่นเยื่อไผ่หรือเยื่อฟางข้าวซึ่งสีของกระดาษที่ได้จะหม่นไม่ขาวเหมือนช่วงแรก

    มีการโรยใยไหมสีแดงและสีน้ำเงินลงบนเนื้อกระดาษรวมถึงการทำลายน้ำเพื่อเป็นการต่อต้านการปลอมแปลง การโรยเส้นใยไหมทำโดยนำใยไหมที่ผ่านการตีผ้าห่มขนสัตว์ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นจ่ายให้เชลยศึกฝรั่งแล้วมาเทไหลตามรางผ่านแนวตั้งของกระดาษพิมพ์ซึ่งต้องตรงตามตำแหน่งกลางฉบับธนบัตร ปัญหาที่พบคือบางครั้งเส้นใยเกาะกันทำให้ไปรวมกระจุกกันอยู่บนผิวกระดาษ เมื่อนำไปพิมพ์ใยเส้นไหมจะหลุดไปพันติดกับแม่พิมพ์ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นตีเยื่อให้กระจายแล้วผสมในน้ำเยื่อกระดาษให้กระจายทั่วบนแผ่น

    ในส่วนของลายน้ำในช่วงต้นเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ ทำโดยการทำตราโลหะเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญกดทับลงในขั้นตอนผลิตกระดาษที่ยังไม่แห้ง ตำแหน่งกดต้องพอดีกับที่จะพิมพ์ลายบนหน้าธนบัตรในตำแหน่งวงกลมที่ว่าง ซึ่งมีโอกาสในการคลาดเคลื่อนจากหลายสาเหตุ ต่อมาจึงเปลี่ยนรูปแบบลายน้ำเป็นรูปลายคลื่นทั่วทั้งธนบัตรซึ่งทำได้ง่ายกว่าโดยการสร้างแม่พิมพ์ขดลวดกลิ้งทับในขั้นตอนผลิตกระดาษ จึงหมดความกังวลเรื่องตำแหน่งลายน้ำไม่สัมพันธ์กับลวดลายพิมพ์สีบนหน้าธนบัตร

    ธนบัตรที่พิมพ์โดยกรมแผนที่ทหารบกมีการสะกดคำตามชุดตัวอักษรไทยใหม่ สืบเนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นแจ้งนายกรัฐมนตรีไทยว่าภาษาไทยยาก พยัญชนะที่เสียงซ้ำกันมีมาก เห็นว่าควรเอาภาษาญี่ปุ่นมาเป็นภาษาราชการ จึงได้มีเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนเพื่อรับมือกับข้อเสนอนี้ จึงเห็นว่าควรปรับปรุงภาษาไทยให้ง่ายขึ้นจึงตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาและปรับจำนวนสระและพยัญชนะให้เหลือน้อยลง จึงได้ปรากฎคำว่า รัถบาลไทย ในธนบัตรแบบ 4 ที่พิมพ์โดยกรมแผนที่ทหาร ซึ่งเมื่อสงครามสิ้นสุดรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ก็ได้ยกเลิกและหันกลับไปใช้ภาษาไทยอย่างเดิม

    ธนบัตร 20 บาท พิมพ์โทมัส ประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2482
    ธนบัตร 20 บาท พิมพ์กรมแผนที่ ประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2486

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศลงวันที่ 20 พ.ย. 2489 ยกเลิกการใช้ธนบัตร 20 บาท แบบ 4 ไม่ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2489

    ขนาดธนบัตร

    8.70 x 14.70 เซนติเมตร

    หมวดอักษรและหมายเลข

    เริ่มตั้งแต่ น ๑ เป็นต้นไป

    ธนบัตรด้านหน้า

    องค์ประกอบสำคัญคือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเครื่องแบบจักรีอยู่เบื้องซ้าย ตรงกลางเป็นภาพพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีรูปไอราพตอยู่ที่มุมขวาล่าง หมวดอักษรและหมายเลขพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง

    ธนบัตรด้านหลัง

    ภาพประธานคือภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่ภายในกรอบล้อมรอบด้วยลายเฟื่อง พิมพ์ข้อความแจ้งโทษของการปลอมแปลงธนบัตรไว้ที่ตรงกลางด้านล่าง

    ลายมือชื่อบนธนบัตร

    พิมพ์โทมัส

  • ประดิษฐ

    พิมพ์กรมแผนที่

  • เภา
  • ควง
  • เล้ง

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    หลวงประดิษฐมนูธรรม (20 ธ.ค. 2481 - 17 ธ.ค. 2484)
    พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ (17 ธ.ค. 2484 - 1 ส.ค. 2487)
    นายควง อภัยวงศ์ (2 ส.ค. 2487 - 10 ม.ค. 2488)
    นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (10 ม.ค. 2488 - 31 ส.ค. 2488)