ธนบัตร
ธนบัตร 1 บาท (2461)

ธนบัตร 5 บาท แบบ 1 ด้านหน้า
ธนบัตร 5 บาท (มี 4 รุ่น ออกใช้ในปี 2445 - 2454)

ธนบัตร 10 บาท แบบ 1 ด้านหน้า
ธนบัตร 10 บาท (มี 4 รุ่น ออกใช้ในปี 2445 - 2453)

ธนบัตร 20 บาท แบบ 1 ด้านหน้า
ธนบัตร 20 บาท (มี 4 รุ่น ออกใช้ในปี 2445 - 2453)

ธนบัตร 50 บาท แบบ 1 ด้านหน้า
ธนบัตร 50 บาท (มี 2 รุ่น ออกใช้ในปี 2461)

ธนบัตร 100 บาท แบบ 1 ด้านหน้า
ธนบัตร 100 บาท (มี 5 รุ่น ออกใช้ในปี 2445 - 2460)

ธนบัตร 1000 บาท แบบ 1 ด้านหน้า
ธนบัตร 1000 บาท (มี 3 รุ่น ออกใช้ในปี 2445 - 2455)

ราคาโดยประเมิน คลิกดูในธนบัตรแต่ละแบบ


ข้อมูลธนบัตร

หลังจากที่การออกเงินกระดาษหลายแบบที่ผ่านมาไม่ได้รับความนิยม กระทรวงพระคลังมหาสมบัติก็ได้รื้อฟื้นความคิดในการออกสิ่งพิมพ์มีค่าเพื่อใช้แทนเงินตราโลหะอีกครั้งในปี 2443 นาย Charles James Rivett Carmac ที่ปรึกษาชาวอังกฤษเสนอแนะ 3 วิธีคือ
1) ออกเป็นตั๋วเงินคลัง (Treasury notes) ใช้แทนเงินตราโลหะโดยไม่ต้องเตรียมตัวเงินอย่างอื่นไว้รองรับการขึ้นเงินนอกจากเงินในพระคลัง
2) จัดตั้งธนาคารชาติให้ทำหน้าที่จัดพิมพ์เงินกระดาษและออกใช้โดยกำหนดข้อบังคับไว้ตามสมควร
3) รัฐบาลเป็นผู้ออกธนบัตร (Currency notes) โดยเก็บเงินของผู้มาขอแลกธนบัตรไว้เป็นหลักประกันเมื่อมาขอแลกคืน

รัฐบาลได้พิจารณาเห็นชอบตามแนวทางที่ 3 จึงได้ติดต่อขอยืมตัวนาย W.J.F. Williamson ชาวอังกฤษจากกระทรวงการคลังของอินเดียเพื่อเข้ามาช่วยดำเนินการ โดยยึดหลักระเบียบการจัดการและการออกใช้ธนบัตรตามแบบอย่างของอินเดียซึ่งก็รับแบบอย่างมาจากอังกฤษอีกทอดหนึ่ง

กรมธนบัตรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรับหน้าที่ดูแลเรื่องการจัดหาและออกใช้ธนบัตร เมื่อแรกได้พิจารณาเงินกระดาษหลวงที่ได้พิมพ์ไว้แล้วแต่ไม่ได้นำออกมาใช้ มีความเห็นจากนาย Williamson ว่าลักษณะลวดลายและสีสันทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีลักษณะแตกต่างและหลากหลาย ยากแก่การจดจำ อีกทั้งมีการเก็บเงินกระดาษหลวงนี้มานานแล้ว อาจมีความเสี่ยงที่เงินบางส่วนอาจสูญหายไปแล้วอาจจะถูกนำกลับมาใช้ จึงเสนอให้ควรออกแบบใหม่มาใช้

รัฐบาลสยามได้ติดต่อไปยังธนาคารแห่งประเทศอังกฤษเพื่อขอให้จัดพิมพ์ธนบัตรให้ตามคำเสนอแนะของนาย Williamson แต่เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษเป็นหน่วยงานที่มิได้จัดพิมพ์ธนบัตรเพื่อแสวงกำไรจึงได้แนะนำบริษัทโทมัสเดอลารูของประเทศอังกฤษเป็นผู้พิมพ์ให้ซึ่งก็เป็นที่พอใจของรัฐบาลสยาม

ธนบัตรแบบ 1 ถูกจัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยและส่งมาถึงสยามในปี 2455 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ. 121 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2445 ให้ธนบัตรใช้แทนเงินเพื่อสะดวกต่อการนับและการพกพาของประชาชน ธนบัตรที่นำออกมาใช้เป็นรูปตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลสยาม สัญญาจะจ่ายเงินให้แก่ผู้นำธนบัตรมายื่นโดยทันทีและรับคืนเป็นเงินตราโลหะได้ที่กรมธนบัตร กรุงเทพหรือตามพระคลังของรัฐบาลในต่างจังหวัด ซึ่งกรมธนบัตรเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2445 ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวังและมีการเปิดรับแลกธนบัตรเป็นปฐมฤกษ์แก่เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ

ธนบัตรแบบ 1 ครั้งแรกนำออกใช้ 5 ราคา คือ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1000 บาท พิมพ์เพียงด้านเดียวด้วยการพิมพ์แบบสีพื้น ไม่มีความนูนหนาของหมึก มีลายน้ำในเนื้อกระดาษเป็นลายน้ำรูปไอราพต ช้างสามเศียร และลายน้ำข้อความรัฐบาลไทยและราคา ลวดลายบนธนบัตรทุกชนิดราคามีลักษณะคล้ายกัน แต่แตกต่างที่ขนาดและสีสันในแต่ละราคา

ธนบัตรแบบ 1 ถูกนำออกใช้ยาวนานมากจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 และมีการเปลี่ยนแปลงตามพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 6 ให้เปลี่ยนศักราชจากรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นพุทธศักราช (พ.ศ.) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2455 การพิมพ์ปีของธนบัตรบนหน้าธนบัตรจึงเปลี่ยนเป็น พ.ศ. นับตั้งแต่นั้น

ในปี 2460 ความรุนแรงของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรปมีความรุนแรงมากขึ้นทำให้การขนส่งธนบัตรมายังสยามไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน ทำให้มีความขาดแคลนธนบัตร รัฐบาลจึงได้นำธนบัตร 1 บาทที่ยังไม่ได้นำออกใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาทำการพิมพ์ทับราคาเป็น 50 บาท เพื่อนำออกมาใช้บรรเทาความขาดแคลนเป็นการชั่วคราวในปี 2461 ส่วนธนบัตร 1 บาทนั้นก็ได้ถูกนำออกมาใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2461